สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ความสุขประชาชน คือความรับผิดชอบราชวงศ์จักรี

“เมื่อคนเขายกย่องนับถือให้เป็นประมุขเท่าไร เราต้องรู้สึกว่าเราต้องทำงานให้หนักกว่าทุกคน ต้องมีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ ข้อสำคัญเป็นคนดีให้รู้จักเสียสละ ยิ่งเกิดมาในตำแหน่งลูกของประมุขแล้ว ก็ยิ่งต้องเสียสละมากขึ้น ต้องทั้งเรียนและต้องทั้งทำงานไปด้วย และก็ต้องพยายามทำให้ดี…”

ในฐานะสมเด็จแม่ “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” มิเพียงแต่จะเป็นแม่ที่ห่วงใย และเอาพระทัยใส่ในการเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างดี ยังทรงเป็นแบบอย่างอันประเสริฐยิ่งในเรื่องความเสียสละ และการทุ่มเทพระองค์เพื่อทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทรงเน้นย้ำกับพระราชโอรสและพระราชธิดามาตลอดถึงหน้าที่ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในฐานะพระราชวงศ์ไทย

“สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” มักจะรับสั่งกับพระราชโอรสและพระราชธิดาเสมอว่า ความสุขของแม่จะไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่ได้เห็นลูก ๆ มีความผูกพันรักใคร่กัน ช่วยเหลือกันและเป็นกำลังสำคัญของพระราชวงศ์ ในการที่จะรับใช้บ้านเมือง เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัวตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงโรแมนติก มีความละเอียดอ่อนกับความรักความอบอุ่นในครอบครัวมาก ขณะเดียวกัน ก็ทรงแสดงออกถึงความรักความผูกพันและความกตัญญูที่มีต่อ “สมเด็จแม่” มาตลอด โดยหลายครั้งปรากฏในรูปแบบของบทพระราชนิพนธ์อันลึกซึ้งกินใจ

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ทรงเป็นแม่ผู้ประเสริฐยิ่ง อีกทั้งยังทรงเป็นมิ่งขวัญแรงใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ พร้อมเคียงบ่าเคียงไหล่เป็นกำลังสำคัญของราชวงศ์จักรีในการรับใช้ประชาชนและชาติบ้านเมือง

“ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้มีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศมานานหลายปี ได้แลเห็นพระวิริยะอุตสาหะและพระราชศรัทธา ที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งยังทรงสอนเรื่องการทำงานให้แก่ข้าพเจ้าด้วย ทำให้ข้าพเจ้าซาบซึ้งในพระราชปณิธาน และได้ตั้งใจปฏิบัติงานที่ทรงมอบหมายมาอย่างสุดความสามารถ คืองานด้านสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ ได้แก่ การช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยเหลือทางด้านสวัสดิการครอบครัว และส่งเสริมอาชีพทางด้านหัตถกรรม เพราะงานเพื่อประชาชนทั้งหลายมีความสำคัญเสมอกัน ย่อมต้องปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน จะละเว้นทางหนึ่งทางใดเสียมิได้…” 

พระราชดำรัสดังกล่าว ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๐ คงพอสะท้อนได้ดีถึงความแน่วแน่พระราชหฤทัยในการอุทิศพระองค์เพื่อรับใช้ประชาชน

โดยมรดกสำคัญที่ทรงมอบไว้เพื่อส่งเสริมอาชีพ, รายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทย ต้องยกให้ “ศิลปาชีพ” ศิลปะเพื่อชีวิตและการธำรงไว้ซึ่งมรดกแห่งแผ่นดิน “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง” แนวพระราชดำริสำคัญในการสร้างอาชีพและแหล่งอาหาร ตลอดจน “ธนาคารอาหารชุมชน” แหล่งสะสมอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งแสดงถึงพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกล

ระหว่างที่ตามเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรที่ได้รับความทุกข์ยากจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ ในพื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญ “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” 

ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จแต่งตัวด้วยผ้าพื้นเมืองที่สวยงาม จึงทรงตระหนักว่า คนเหล่านี้แม้จะยากจน แต่เขามีความรู้และฝีมือในการทำงานศิลปหัตถกรรม เช่น การทอผ้าไหม การสานกระเป๋า การปักผ้า และการทำเครื่องปั้นดินเผา จึงทรงส่งเสริมให้ราษฎรได้ทำงานฝีมือที่คุ้นเคยเป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มพูนรายได้แก่ครอบครัว โดยจัดทำเป็นโครงการศิลปาชีพ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์” ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เพื่อช่วยเหลือราษฎรผู้ยากไร้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยจุดเริ่มต้นของศิลปาชีพเพิ่มรายได้แก่ราษฎร มาจากการที่ทรงชักชวนหญิงชาวบ้านเขาเต่า จังหวัดเพชรบุรี มาหัดทอผ้าขาวม้ากับผ้าซิ่นขายเป็นอาชีพเสริม และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงทอผ้าง่าย ๆ ขึ้นที่ท้ายวังไกลกังวล พร้อมทั้งทรงรับซื้อผ้าของชาวบ้านไว้ทั้งหมด จึงนับว่าการทอผ้าฝ้ายของชาวบ้านเขาเต่าเป็นพระราชกรณียกิจแรกด้านการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมแก่ราษฎร ก่อนจะตามมาด้วยการส่งเสริมศิลปะบนผืนผ้าแดนอีสานอย่าง “ผ้าไหมมัดหมี่” และผลิตภัณฑ์แห่งความประณีตของภาคใต้ เช่น “การส่งเสริมอาชีพจักสานย่านลิเภา” พร้อมกับการฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมแขนงต่าง ๆ ควบคู่กันไป เช่น การถมทอง ถมเงิน งานคร่ำ การแกะสลัก หนังตะลุง และตุ๊กตาชาววัง

ขณะเดียวกัน ทรงพบว่ายังมีราษฎรจำนวนมากที่ขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ ขาดแหล่งอาหารเพื่อการดำรงชีวิต ประสบปัญหาความยากจน และขาดแคลนที่ดินทำกิน จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนิน “โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริ” ตลอดจน “ธนาคารอาหารชุมชน” ด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องในการประกอบอาชีพ รวมถึงให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตในบางส่วน พร้อมทั้งติดตามให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือให้ราษฎรในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงได้มีอาหารบริโภคตลอดปี อีกทั้งยังทำให้คนยากจนในชุมชนนั้นๆมีงานทำไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานในต่างถิ่น โดยฟาร์มตัวอย่างแห่งแรกจัดตั้งขึ้นที่บ้านขุนแตะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นแหล่งจ้างแรงงานและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น โดยส่งเสริมให้ราษฎรประกอบอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอนในการเลี้ยงครอบครัว และส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์พื้นเมืองชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้คงอยู่

ขณะที่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ได้จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกที่บ้านดงยอ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยสร้างบ้านพักเกษตรกร ๒๐ หลัง และจัดแบ่งที่ดินเพื่อทำการเกษตรครอบครัวละ ๒ ไร่ รวมทั้งจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคให้แก่ราษฎรในโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์ใช้ที่ดินที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยเหลือให้ราษฎรได้มีงานทำ กลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ โดยไม่ใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง อีกทั้งยังรณรงค์ให้ราษฎรรู้จักการปลูกป่าชุมชน ฟื้นฟูสภาพป่าให้มีผืนป่าเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องทำลายป่าไม้ของชุมชน ภายหลังได้มีการขยายโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง ไปสู่พื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์ไม่สงบ ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนชาวไทยทั่วทุกถิ่น ได้มีความหวังและพลังแรงใจในการดำเนินชีวิตต่อไปนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อปวงชนชาวไทย ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

แหล่งที่มา https://www.thairath.co.th/news/royal/๑๙๐๘๓๗๑
https://www.nac2.navy.mi.th/index.php/main/detail/content_id/1290